Friday, 2 November 2012
มาดูโค้ช The Voice Thailand ฉบับการ์ตูนกันค่ะ
Friday, 20 January 2012
อั่งเปาต้อนรับปีมังกรจ้า
Tuesday, 13 December 2011
Gift tags for Christmas 2011
Sunday, 13 November 2011
Spekulatius - งานศิลป์บนชิ้นขนม
http://www.gomeal.de/rezept/1003/Spekulatius.html
วันนี้อยากจะเล่าถึงขนมชนิดหนึ่งชื่อว่า „Spekulatius“ ซึ่งมักจะมีวางขายให้ได้ลิ้มรสเฉพาะในช่วงเทศกาลคริสต์มาส ขนมชนิดนี้ดูแค่ผิวเผินก็จะคล้ายๆ กับขนมจำพวกคุกกี้ทั่วไป แต่ความน่าสนใจของ Spekulatius อยู่ที่รูปทรงแปลกๆ และลวดลายที่สวยงามบนตัวขนม ดูแล้วช่างเพลินตา อีกทั้งกลิ่นรสอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทำให้หยิบกินแล้วเพลินใจ เผลอแป๊บเดียวหมดเกลี้ยงทุกที
ลองมาทำความรู้จักขนมชนิดนี้กันค่ะ
Spekulatius มีต้นกำเนิดมาจากบริเวณแถบประเทศเบลเยียม, ประเทศเนเธอร์แลนด์ (เรียกว่า Speculaas) และแถบตะวันตกของประเทศเยอรมนี ตามประเพณีดั้งเดิมนั้นขนมจะถูกอบเพื่อกินในคืนก่อนวัน Saint Nicholas หรือวันที่ 6 ธันวาคมเพื่อเป็นการระลึกถึง Saint Nicholas(St Nicholas ก็คือนักบุญที่มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ชอบช่วยเหลือคนยากจน และที่สำคัญเขาเป็นต้นแบบของลุงซานตาครอสนั่นเองค่ะ) ลวดลายของขนมดั้งเดิมจึงมักถูกทำเป็นภาพที่บอกเล่าถึงเรื่องราวต่างๆ ของ St Nicholas แต่ในปัจจุบันลวดลายของขนมมีหลากหลายมากขึ้น เช่น กังหันลม, ช้าง หรือ เรือ เป็นต้น
สำหรับที่มาของชื่อขนม Spekulatius นี้มีข้อสันนิษฐานอยู่หลายข้อ บ้างก็ว่า มาจากคำในภาษาลาติน Speculator ซึ่งมีความหมายเกี่ยวโยงกับฉายาของ St. Nicholas ที่ว่าท่านเป็นผู้หยั่งรู้สรรพสิ่ง บ้างข้อสันนิษฐานก็ว่า มาจากคำในภาษาลาตินคือ Speculum ที่แปลว่า กระจก ซึ่งน่าจะเกี่ยวโยงกับวิธีการทำขนมที่ใช้แม่พิมพ์กดทำให้เกิดลวดลายบนขนมในลักษณะกลับด้านกับแม่พิมพ์เสมือนการส่องกระจกนั่นเอง
ในประเทศเยอรมนี Spekulatius เป็นขนมที่นิยมกินกันในช่วงเทศกาลคริสต์มาส แต่ในเบลเยียมและเนเธอร์แลนด์จะมีให้เห็นตลอดทั้งปี รวมถึงในประเทศอินโดนีเซียก็เป็นที่รู้จักด้วย (เพราะเคยเป็นเมืองขึ้นของเนเธอร์แลนด์) ส่วนในประเทศอเมริกา, นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย จะรู้จักในชื่อของ Dutch Windmill cookies
Spekulatius เป็นขนมอบที่ทำมาจากแป้งพายที่เรียกว่า Mürbeteig (หรือ Shortcrust pastry ซึ่งมีส่วนประกอบหลักๆ ได้แก่ แป้ง, เนย และน้ำตาล โดยจะไม่มีการใส่สารที่ช่วยให้ขึ้นฟู ฉะนั้นขนมจะไม่มีขยายตัวหรือขึ้นฟูเวลาอบ)
Spekulatius มีหลายรสชาติ แต่รสชาติดั้งเดิมและพบเห็นมากที่สุด คือ รสเครื่องเทศ (Gewürzspekulatius) โดยเครื่องเทศหลักๆ ที่ใช้เป็นส่วนผสม ได้แก่ กระวาน (Kardamon), ก้านพลู (Gewürznelke) และอบเชย (Zimt) เป็นต้น เครื่องเทศเหล่านี้ทำให้ขนมมีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ ส่วนรสชาติอื่นๆ ได้แก่ รสอัลมอนด์ และรสเนย
นอกเหนือไปจากรูปแบบลวดลายที่คุ้นตาของ Spekulatius แล้ว ปัจจุบันยังมีการประยุกต์ทำลวดลายให้น่าสนใจมากขึ้น ตัวอย่างเช่นSpekulatius ของร้าน Kölner Dom-Spekulatius ซึ่งนอกจากจะมีการประยุกต์ทำเป็นลวดลายรูปโบสถ์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเมือง Köln แล้ว ร้านเค้ายังรับทำลวดลายขนมเป็นรูปโลโก้หรือตราของบริษัทต่างๆ เพื่อไว้ใช้สำหรับมอบเป็นของขวัญในช่วงเทศกาลคริสต์มาสด้วย เก๋มากเลยค่ะ
http://www.koelner-dom-spekulatius.de/firmengebaeck/index_ger.html
และด้วยกลิ่นรสที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของ Spekulatius ทำให้มันถูกเลือกให้เป็นรสชาติพิเศษสำหรับผลิตภัณฑ์ช็อกโกแลตยี่ห้อหนึ่งในฤดูหนาวปี 2009 น่ากินเชียวค่ะ
ตอนนี้ก็พอจะรู้จักเจ้าขนม Spekulatius กันมากขึ้นแล้ว ใครยังไม่เคยลิ้มรสก็ลองซื้อหามาทานดูนะค่ะ กลิ่นเครื่องเทศหอมๆ กับความกรุบกรอบของขนม Spekulatius ยิ่งได้ทานคู่กับชา, กาแฟ หรือช็อกโกแลตอุ่นๆ มันช่างเข้ากับอากาศหนาวๆ ในช่วงนี้จริงๆ ค่ะ
อ้างอิง
http://de.wikipedia.org/wiki/Spekulatius
Thursday, 10 November 2011
11.11.11 วันกินห่าน Martinstag (St. Martin’s Day)
ใครคือ St. Martin?
St. Martin เกิดสมัย ค.ศ. 316 พ่อของเขาเป็นเจ้าหน้าที่ชั้นสูงของทหารม้ารักษาพระองค์ พออายุได้ 10 ขวบ เขาเริ่มเข้าโบสถ์แต่พ่อไม่เห็นด้วย เพราะในสมัยนั้นคริสต์ศาสนายังไม่เป็นที่ยอมรับในหมู่ชาวโรมันชั้นสูงและในบรรดาทหาร เมื่ออายุได้ 15 ปีเขาต้องเข้าเป็นทหาร เขามักจะช่วยเหลือคนยากจนและขอทาน จากตำนานกล่าวว่า วันหนึ่งในช่วงฤดูหนาวเขาได้พบกับขอทานคนหนึ่งซึ่งไม่มีเสื้อผ้า เขาจึงสละเสื้อคลุมครึ่งหนึ่งของเขาให้กับขอทานเพื่อให้รอดชีวิตจากความหนาวเหน็บ และในคืนนั้นเอง เขาฝันเห็นพระเยซูมาหาเขาและห่มผ้าคลุมครึ่งหนึ่งของเขาด้วย
หลังจากเลิกเป็นทหาร เขาได้ประกาศตัวเป็นคริสต์ศาสนิกชน เป็นสาวกของนักบุญ และได้เป็นบิชอป (Bischof von Tours) ในปี ค.ศ. 371 และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนปี ค.ศ. 397
แล้ว St. Martin เกี่ยวข้องอะไรกับการกินห่าน?
มีเรื่องเล่ามากมายที่เกี่ยวข้องกับห่าน แต่เรื่องที่ดูจะเป็นไปได้มากที่สุดคือ เมื่อสมัยคริสต์วรรษที่ 4 สมัยนั้นยังคงมีระบบศักดินาอยู่ และในวัน Martinstag ก็ตรงกับวันที่ชาวบ้านจะต้องจ่ายส่วยหรือภาษีที่เรียกว่า Martinsschoß แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่นิยมนำห่านมาจ่ายเป็นส่วยแทนเงิน เพราะในช่วงฤดูใบไม้ผลิเป็นช่วงที่ห่านกำลังอวบอ้วน ประกอบกับใกล้ถึงช่วงฤดูหนาวซึ่งแห้งแล้งและชาวบ้านไม่มีอาหารเพียงพอสำหรับเลี้ยงดูห่านพวกนี้
นอกจากนี้ในวันที่ 11 พฤศจิกายน นับเป็นวันก่อนเริ่มต้นช่วงเวลาถือศีลอด ดังนั้นจึงมีการกินอาหารมื้อใหญ่เพื่อส่งท้ายและเมนูห่านก็เป็นอาหารชั้นดีที่นิยมใช้ในการเฉลิมฉลอง
อ้างอิง & รูป http://de.wikipedia.org/wiki/Martinstag
Wednesday, 23 March 2011
Tarnberry Story ฉบับการ์ตูน ตอน แดดลวงตา
ฤดูหนาวใกล้จะหมดลงแล้ว สังเกตได้จากอากาศที่อุ่นขึ้น
และดอกไม้สีสดใสเล็กๆ ที่เริ่มแทรกตัวขึ้นมาจากพื้นดินที่ครั้งหนึ่งเคยปกคลุมไปด้วยหิมะ
วันจันทร์ที่ผ่านมา (21.03.2011) ที่เยอรมันถือเป็นวันเริ่มต้นของฤดูใบไม้ผลิ (Frühlingsanfang) ค่ะ
และในวันอาทิตย์ที่จะถึงนี้ (27.03.2011) จะเริ่มต้นใช้เวลาช่วงฤดูร้อนแล้ว (Sommerzeit) ต้องปรับนาฬิกาล่วงหน้าไปหนึ่งชั่วโมงค่ะ
ใครอยู่เยอรมันก็อย่าลืมปรับเวลากันนะค่ะ เด๋วจะไปทำงานสายค่ะ (นอกจากจะโดนบ่นแล้ว ยังเสี่ยวอีกด้วยน้า)